ปัจจัยเสี่ยง
โรคซึมเศร้าทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงตามมามากมาย ตั้งแต่โรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าคนปกติ เสียชีวิตจากสารเสพติด หรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตาย
อาการพบบ่อย
หากคุณสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ หากมีอย่างน้อย 5 อย่างหรือมากกว่าติดต่อกันอย่างน้อย 14 วันและมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า:
1. มีอารมณ์ซึมเศร้า (เด็กหรือวัยรุ่นอาจมีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย)
2. เบื่อ หมดความสนใจหรือความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ
3. นอนไม่หลับ หรือหลับๆตื่นๆหรือหลับมาก
4. เหนื่อยง่ายหรือไม่ค่อยมีแรง
5. เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป
6. รู้สึกไร้ค่า รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
7. ไม่มีสมาธิหรือลังเลใจไปหมด
8. พูดช้า ทำอะไรช้าลงหรือกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง
9.มีความคิดอยากตาย คิดทำร้ายตัวเอง
ประเภท
โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ:
โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว คือ ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าอย่างเดียว
โรคซึมเศร้าแบบสองขั้ว หรือที่เรียกว่าไบโพลาร์ ผู้ป่วยมีอาการอารมณ์ขึ้นลงมากกว่าคนทั่วไปจนเกิดผลเสีย
สาเหตุ
ปัจจัยใหญ่ๆที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้แก่:
กรรมพันธุ์
สารเคมีในสมองไม่สมดุล
ลักษณะนิสัย
มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าลักษณะนิสัยเป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ
มีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
โดยมีสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน และนอร์เอพิเนฟรินลดต่ำลง
มีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองตนเองในแง่ลบ อาจเกิดจากสถานการณ์ที่กดดัน เช่น ตกงาน
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
1. ลองออกกำลังแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น การกินอาหารดีขึ้น การขับถ่ายดีขึ้น ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว
2. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงานและการปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง
3. เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆ โดยมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ เช่น ไปเที่ยวสวนสาธารณะ ไปเที่ยวชายทะเล ชวนเพื่อนมาที่บ้าน พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว
4. อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เช่นการหย่า การลาออกจากงาน ณ ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้การมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน
5. การมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อยๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อนหลังแล้วลงมือทำไปตามลำดับ